timeline_25620731_152335.jpgtimeline_25620731_152202.jpg

 

วันที่ 31 กรกฎาคม 2562 เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชุมอาคารประชาสัมพันธ์ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น นายพิพัทต์ คงสินทวีสุข (อฟอ.) พร้อมด้วยผู้บริหาร หัวหน้ากอง และผู้ปฏิบัติงาน อฟอ. ให้การต้อนรับ นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี และคณะอนุกรรมการฯ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ และการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น พร้อมกับรับฟังการบรรยายสรุปถึงสถานการณ์น้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ 554 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 22.81 ของความจุเก็บกัก สามารถรับน้ำได้อีก 1,867 ล้านลูกบาศก์เมตร ระบายน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ของลำน้ำพองวันละ 5 แสนลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้เขื่อนอุบลรัตน์เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งที่สองของประเทศไทยต่อจากเขื่อนภูมิพล สร้างปิดกั้นแม่น้ำพอง อยู่ห่างจากตัวจังหวัดขอนแก่น ประมาณ 50 กิโลเมตร มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าโดยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 55 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง นอกจากนี้ยังสร้างประโยชน์ด้านชลประทานและการเกษตรโดยน้ำที่ปล่อยผ่านการผลิตไฟฟ้าแล้วจะส่งเข้าสู่ระบบชลประทานเพื่อส่งน้ำให้แก่พื้นที่เกษตรกรรมจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดมหาสารคาม จำนวน 300,000 ไร่ ทำให้สามารถทำการเพาะปลูกได้ปีละ 2 ครั้ง ด้านการประมง เป็นแหล่งประมงขนาดใหญ่ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศที่สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในภูมิภาคนี้เป็นจำนวนมาก ด้านการบรรเทาอุทกภัย สามารถบรรเทาภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันในช่วงฤดูฝนบริเวณแนวฝั่งลำน้ำพองถึงแม่น้ำชีให้ลดน้อยลงอีกด้วย โอกาสนี้ องคมนตรีได้พบปะเยี่ยมราษฎรที่ได้รับประโยชน์ในครั้งนี้

         จากนั้นเวลา 13.20 น. องคมนตรี และคณะฯ เดินทางไปยังโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำตำบลบ้านดงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น พร้อมกับรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการฯ และเยี่ยมชมกิจกรรมของราษฎร โครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าฯ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2553 เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำทำการเกษตรของราษฎร ปัจจุบันอยู่ระหว่างการวางระบบท่อส่งน้ำซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งระบบในปี 2563 ซึ่งจะสามารถเพิ่มพื้นที่การเกษตรได้ถึง 15,000 ไร่ ราษฎรได้รับประโยชน์จำนวน 15 หมู่บ้าน 2,469 ครัวเรือน นอกจากนี้ยังสามารถขยายการเพาะปลูกเพิ่มขึ้นจากเดิมปลูกไม้จำพวกยูคาลิปตัส มันสำปะหลัง อ้อย เมื่อมีน้ำสมบูรณ์ก็สามารถขยายไปปลูกพืชผักสวนครัว ซึ่งก็จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย